สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชั้น 3 อาคาร 4 ถนนสายเอเชีย
ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา 13000
โทรศัพท์ : 035-336-525-6 Email : ay_ops@moc.go.th
ข้อมูลทั่วไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นอดีตราชธานีของไทย มีหลักฐานของการเป็นเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ โดยมีร่องรอยของที่ตั้งเมือง โบราณสถาน โบราณวัตถุ และเรื่องราวเหตุการณ์ในลักษณะ ตำนานพงศาวดาร ไปจนถึงหลักศิลาจารึก ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่ใกล้เคียงเหตุการณ์มากที่สุด ซึ่งเมืองอโยธยา หรืออโยธยาศรีรามเทพนคร หรือเมืองพระราม มีที่ตั้งอยู่บริเวณ
ด้านตะวันออกของเกาะเมืองอยุธยา มีบ้านเมืองที่มีความเจริญ ทางการเมือง การปกครอง และมีวัฒนธรรม
ที่รุ่งเรืองแห่งหนึ่ง มีการใช้กฎหมายในการปกครองบ้านเมือง ๓ ฉบับ คือ พระอัยการลักษณะเบ็ดเสร็จพระอัยการลักษณะทาส พระอัยการลักษณะกู้หนี้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ พระเจ้าอู่ทอง ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ กรุงศรีอยุธยา เป็นศูนย์กลางของประเทศสยามสืบต่อมายาวนานถึง ๔๑๗ ปี
มีพระมหากษัตริย์ปกครอง ๓๓ พระองค์ จาก ๕ ราชวงศ์ คือ
๑. ราชวงศ์อู่ทอง
๒. ราชวงศ์สุพรรณภูมิ
๓. ราชวงศ์สุโขทัย
๔. ราชวงศ์ปราสาททอง
๕. ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
ได้สูญเสียเอกราชแก่พม่า ๒ ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๑๑๒ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกู้เอกราชคืนมาได้ใน พ.ศ. ๒๑๒๗ และ เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชได้ในปลายปีเดียวกันแล้วทรงสถาปนา กรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ โดยกวาดต้อนผู้คนจากกรุงศรีอยุธยาไปยังกรุงธนบุรีเพื่อสร้างเมืองใหม่ แต่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้ กลายเป็นเมืองร้าง ยังคงมีคนรักถิ่นฐานบ้านเดิมอาศัยอยู่และราษฎรที่หลบหนีไปได้กลับเข้ามาอยู่รวมกัน ต่อมาได้รับการยกย่อง เป็นเมืองจัตวาเรียก "เมืองกรุงเก่า"
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกเมืองกรุงเก่าขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาเช่นเดียวกับสมัยกรุงธนบุรี หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดการปฏิรูป การปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการปกครองส่วน ภูมิภาคนั้นโปรดให้จัดการปกครอง แบบเทศาภิบาลขึ้นโดย
ให้รวม เมืองที่ใกล้เคียงกัน ๓ – ๔ เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวง เทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ทรงโปรดให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆคือกรุงเก่าหรือ อยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี ต่อมาโปรดให้รวมเมืองอินทร์ และเมืองพรหม เข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา และในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ เปลี่ยนชื่อจากมณฑลกรุงเก่า เป็นมณฑลอยุธยา ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยา มีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหาร การปกครองมากขึ้น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนา เมือง อยุธยาในเวลาต่อมา จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาล ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ อยุธยาจึง เปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายบูรณะโบราณสถานภายในเมืองอยุธยา เพื่อเป็นการฉลองยี่สิบห้า พุทธศตวรรษ ประกอบกับในปี พ.ศ.๒๔๙๘ นายกรัฐมนตรีประเทศพม่าเดินทางมาเยือนประเทศไทย และมอบเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อปฏิสังขรณ์วัดและองค์พระมงคลบพิตร เป็นการเริ่มต้นการบูรณะโบราณสถานในอยุธยาอย่างจริงจัง ซึ่งต่อมากรมศิลปากรเป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินการ จนองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก มีมติให้ประกาศขึ้นทะเบียนนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็น " มรดกโลก " เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๔ มีพื้นที่ครอบคลุมในบริเวณโบราณสถานเมืองอยุธยา
ต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ต้นหมันเป็นพันธุ์ไม้ตระกูล Boraginaceae เป็นต้นไม้ขนาดปานกลาง สูงราว ๖๐ ฟุต ลำต้นลักษณะคล้าย
กระบอกเนื้อไม้สีเทาปนสีน้ำตาล มีความแข็งปานกลางเปลือกหนาประมาณ ๑/๒ นิ้ว สีเทาปนน้ำตาลซึ่งมีรอยแตกยาวไปตามลำต้น ใบยาวประมาณ ๕ นิ้ว กว้างประมาณ ๓ นิ้ว เป็นรูปไข่โคนใบคล้ายรูปหัวใจ ดอกสีขาว ผลเป็นพวงสีเขียวเมื่อสุก ต้นหมันชอบขึ้นในป่าทั่วไปในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม้ประเภทนี้ปกติไม่นิยมใช้ประโยชน์ ต้นหมันเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพราะในประวัติศาสตร์ เมื่อพระเจ้าอู่ทองย้ายเมืองมาตั้งที่ตำบลหนองโสน ได้ขุดพบสังข์ทักษิณาวัตร ๑ ขอน อยู่ใต้ต้นหมันอันเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ดอกโสนเป็นต้นไม้ในตระกูล Leguminosae เป็นไม้ล้มลุก (Shrub)เนื้ออ่อนโตเร็ว ลำต้นอวบ ปลูกและ
ขึ้นเองตามแม่น้ำลำคลองหนองบึงทั่วไปในภาคกลาง ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อห้อยและเหลืองอร่ามคล้ายทองไปทั่วทุกแห่งใช้รับประทานเป็นอาหารได้ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ พระเจ้าอู่ทองทรงตั้งเมืองขึ้นใหม่ที่ตำบลเวียงเหล็กทรงเลือกชัยภูมิที่จะตั้งพระราชวังทรงเห็นว่าที่ตำบลหนองโสนเหมาะสมเพราะมีต้นโสนมากดอกโสนออกดอกเหลืองอร่ามคล้ายทองคำสะพรั่งตาดังนั้นดอกโสนจึงถือได้ว่าเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สัตว์ประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กุ้งแม่น้ำ หรือ กุ้งก้ามกราม (กุ้งสมเด็จ)ชื่อสามัญ : Giant Freshwater Prawn ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพบางไทรขึ้นริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ ต.ช้างใหญ่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ฯนี้เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ และทรงปล่อยลูกกุ้งชุดแรกที่หน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทรแห่งนี้ และได้มีการปล่อย อย่างต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงทุกวันนี้ ในบางปีที่เสด็จพระราชดำเนินมายังพระตำหนักสิริยาลัย ก็ได้นำลูกกุ้งก้ามกรามนับล้านตัวมาปล่อยในบริเวณหน้าพระตำหนัก
สภาพทางภูมิศาสตร์
จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศห่างจากกรุงเทพมหานคร ทางถนนสายเอเซีย ๗๕ กิโลเมตร ทางรถไฟ ๗๒ กิโลเมตร และทางเรือ ๑๐๓ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๕๕๖.๖๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๑,๕๙๗,๙๐๐ ไร่ นับว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ ๖๓ ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ ๑๑ ของจังหวัดในภาคกลาง ลักษณะภูมิประเทศ เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนา ไม่มีภูเขา ไม่มีป่าไม้ มีแม่น้ำไหลผ่าน ๔ สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรีและแม่น้ำน้อย รวมความยาวประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร มีลำคลองใหญ่น้อย ๑,๒๕๔ คลอง เชื่อมต่อกับแม่น้ำเกือบทั่วบริเวณพื้นที่
สถานที่ตั้ง อาณาเขต
จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ข้อมูลภูมิอากาศของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปี 2558
ข้อมูลภูมิอากาศ | วัดได้ | เมื่อ |
อุณหภูมิสูงสุด | ๓๙.๗ องศาเซลเซียส | เมษายน ๒๕๕๘ |
อุณหภูมิต่ำสุด | ๑๖.๐ องศาเซลเซียส | มกราคม ๒๕๕๘ |
ปริมาณฝนรวมทั้งปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย | ๑๑๕๒.๗ มิลลิเมตร | - |
จำนวนวันฝนตก | ๙๕ วัน | - |
วันที่ฝนตกมากที่สุด | ๙๑.๖ มิลลิเมตร | ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๘ |
ความยาวนานแสงแดดมากที่สุดเฉลี่ย | ๘.๒ (ชม./วัน) | พฤศจิกายน ๒๕๕๘ |
ความยาวนานแสงแดดน้อยที่สุดเฉลี่ย | ๔.๓ (ชม./วัน) | มิถุนายน/กรกฎาคม ๒๕๕๘ |
ความยาวนานแสงแดดตลอดทั้งปีเฉลี่ย | ๖.๔ (ชม./วัน) | - |
น้ำระเหยมากที่สุดเฉลี่ย | ๕.๙ มิลลิเมตร | เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ |
น้ำระเหยน้อยที่สุดเฉลี่ย | ๓.๗ มิลลิเมตร | เดือนธันวาคม ๒๕๕๘ |
น้ำระเหยตลอดทั้งปีเฉลี่ย | &๔.๗ มิลลิเมตร |
ที่มา : สถานีอุตุนิยมวิทยาพระนครศรีอยุธยาข้อมูล : ณ วันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๙
ที่มาของข้อมูล https://ww2.ayutthaya.go.th/frontpage